top of page
Med_en_21_edited.jpg

สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประวัติสาขาวิชา

ชื่อภาษาไทย สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 
ชื่อภาษาอังกฤษ Department of Obstetrics and Gynecology

image.png
image.png
image.png
image.png
image.png
image.png
image.png
image.png
image.png
image.png

      ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งขึ้นพร้อมคณะแพทยศาสตร์ตามประกาศในราชกิจจา

นุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 คณะแพทยศาสตร์เปิดรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 รุ่นแรกในปี พ.ศ. 2516 โดยมีโรงพยาบาลหาดใหญ่และ

โรงพยาบาลสงขลาเป็นสถานที่ปฏิบัติงานทางคลินิกในระยะแรก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เริ่มเข้าศึกษาในภาควิชาในปี พ.ศ. 2519   ในระยะแรกภาควิชามีสำนักงานอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2525 ได้ย้ายสำนักงานภาควิชา การจัดเรียนการสอน และการบริการผู้ป่วย มาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จนปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2564
ได้มีการปรับโครงสร้างของคณะแพทยศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากภาควิชา มาเป็น

“สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันสาขาวิชาฯ จัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 จำนวน 120 คนต่อปีการศึกษา จัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกพร้อมกับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จำนวน 8 คนต่อปีการศึกษา แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาต่าง ๆ 4 อนุสาขาปีการศึกษาละ 8 คน และหลักสูตรเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ปีละ 1 คน

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานของภาควิชาฯ มีหัวหน้าภาควิชา/หัวหน้าสาขาวิชา และรักษาการ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พ.ศ. 2520-2521           รศ.นพ. กิจประมุข  ตันตยาภรณ์

พ.ศ. 2521-2526           อ.นพ.วิชา  สธนพานิชย์

พ.ศ. 2526-2528           ผศ. พญ. สุรางค์  พันธุ์ฟุ้ง

พ.ศ. 2529-2531           ผศ.พญ. สายบัว  ชี้เจริญ

พ.ศ. 2531-2533           อ.นพ.สุธรรม  ปิ่นเจริญ

พ.ศ. 2533-2541           รศ.นพ. วีระพล  จันทร์ดียิ่ง

พ.ศ. 2541-2549           รศ.พญ. สายบัว  ชี้เจริญ

พ.ศ. 2549-2551           รศ.นพ. วีระพล  จันทร์ดียิ่ง

พ.ศ. 2551-2555           รศ.นพ. สุธรรม  ปิ่นเจริญ

พ.ศ. 2555-2558           ศ.นพ.โสภณ  ชีวะธนรักษ์

พ.ศ. 2558-2559           รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์

พ.ศ. 2559-2564           รศ.พญ.กรัณฑ์รัตน์ สุนทรพันธ์ (รักษาการหัวหน้าสาขาวิชา)

พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน     ศ.พญ.จิตเกษม สุวรรณรัฐ

อดีตหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และต่อมาได้เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ถึง 2 ท่าน ได้แก่ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ (วาระ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555 – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559) และ รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ (วาระ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน)

ทศวรรษที่ 1: ปี พ.ศ. 2515-2524

        เป็นยุคของการบุกเบิก มีการเตรียมการหลักสูตร การรับอาจารย์ และสถานที่เรียนทางคลินิก ในระยะแรกมีอาจารย์แพทย์ประจำเพียง 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์วิชา สธนพานิชย์ และอาจารย์สุรางค์ พันธุ์ฟุ้ง และมีหัวหน้าภาควิชา คือ อาจารย์กิจประมุข ตันตยาภรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มาช่วยราชการชั่วคราว อาจารย์ได้จัดทำหลักสูตรและเตรียมการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ซึ่งนักศึกษาได้ขึ้นเรียนปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยต้องไปฝึกปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อาจารย์ใหม่ที่ภาควิชารับเข้ามาในระยะนี้ เป็นอาจารย์ที่เพิ่งจบวุฒิบัตรทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ยังไม่มีการฝึกอบรมทางด้านแพทยศาสตรศึกษาอย่างเป็นระบบ

ทศวรรษที่ 2: ปี พ.ศ. 2525-2534

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เริ่มเปิดให้บริการพื้นฐานทางสูตินรีเวช เมื่อปี พ.ศ. 2525 ช่วงทศวรรษนี้มีอาจารย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีละ 3-4 ท่าน ในขณะที่มีอาจารย์รุ่นใหม่มา  อาจารย์รุ่นพี่ก็มีการลาออกหรือโอนย้าย เป็นช่วงสมองไหลของคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ทั้งคณะ   ในช่วงเวลานี้มีอาจารย์แพทย์ประมาณ 20 ท่าน อาจารย์มีการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมากขึ้น  และมีการพัฒนาตนเองเชิงลึก อาทิเช่น ในปี พ.ศ. 2532 ผศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล ไปศึกษาต่อเป็น Research Fellow in Perinatology ณ มหาวิทยาลัยโกเบ (Kobe University) ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุน Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) ด้าน Doppler Ultrasound

ปี พ.ศ. 2531 มีการก่อตั้งหน่วยเวชสถิติของภาควิชาขึ้น โดย อ.สุธรรม ปิ่นเจริญ และ อ.ศยาม เวศกิจกุล เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน สร้างเป็นฐานข้อมูลต่อเนื่องระยะยาว เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นสารสนเทศ ใช้ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงวิธีการรักษาพยาบาล รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลวิจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนสามารถนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาภาควิชาและโรงพยาบาล  หน่วยเวชสถิติได้มีการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  เน้นความถูกต้องครบถ้วน สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ได้ทันกาล มีการนำเสนอในรูปแบบของกิจกรรมวิชาการของภาควิชา เป็นประจำทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน

ด้านการเรียนการสอน

ปี พ.ศ. 2528 คณะแพทยศาสตร์เริ่มเปิดโครงการฝึกอบรมหลังปริญญา ภาควิชาเริ่มรับแพทย์ใช้ทุนรุ่นแรกในปีนี้ มี 4 คนได้แก่ นายแพทย์อนุชา

(ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น พสุวัฒน์) คงศีล นายแพทย์อภิธาน พวงศรีเจริญ นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช และ แพทย์หญิงสฤกพรรณ พงศ์พานิช

ปี พ.ศ. 2533 แพทย์ใช้ทุนของภาควิชา หลักสูตร 42 เดือน  สอบวุฒิบัตรฯ ผ่านเป็นรุ่นแรก จำนวน 2  ท่าน คือ นพ.หเทิญ ถิ่นธารา และ นพ.พิสิฐ บูรณวโรดมกุล

ปี พ.ศ. 2533 แพทยสภาอนุมัติให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จำนวนไม่เกิน 4 คนต่อปีการศึกษา เพิ่มเติมจากการฝึกอบรมแพทย์ใช้ทุนหลักสูตร 42 เดือน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 ตามหนังสือแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ที่ พส.01/1011 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โดยภาควิชาได้เริ่มรับแพทย์ประจำบ้านเข้าฝึกอบรมคนแรกในปีการศึกษา 2535 ได้แก่ พญ.เบญจวรรณ ทยานิธิกุล ต้นสังกัดจากโรงพยาบาลระแงะ จังหวัดนราธิวาส  และในปี พ.ศ. 2535 ภาควิชา เพิ่มศักยภาพในการผลิตแพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน เป็น 6 คนต่อปีการศึกษา โดยแพทย์ใช้ทุนใช้เวลาฝึกอบรม 42 เดือน และแพทย์ประจำบ้าน 36 เดือน

ด้านการบริการ

มีการให้บริการตามความเชี่ยวชาญของอาจารย์แพทย์ โดยมีหน่วยย่อยของภาควิชาได้แก่ หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี หน่วยวางแผนครอบครัว หน่วยมีบุตรยาก  และหน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์  

การพัฒนาด้านการบริการเชิงลึกของแต่ละหน่วยในยุคนี้ ได้แก่

หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ในปีพ.ศ. 2550)

ปี พ.ศ. 2527 อ.นพ.วิชา สธนพานิชย์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้จัดซื้อเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) และเครื่องบันทึกเสียงหัวใจทารกในครรภ์ (electronic fetal monitoring) เป็นเครื่องแรกของภาควิชา และนับเป็นเครื่องรุ่นแรกของภาคใต้ ขณะนั้นยังไม่มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องอย่างเป็นระบบ เครื่องที่ซื้อมาจึงได้จัดตั้งไว้ใช้ในห้องคลอด

ปี พ.ศ. 2529 ผศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล ได้ก่อตั้ง “หน่วยบริบาลทารกในครรภ์” และเริ่มเปิดให้บริการตรวจผู้ป่วยนอกที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง

ปี พ.ศ. 2529 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ได้เริ่มก่อตั้ง ห้องปฏิบัติการด้านอณูพันธุศาสตร์และโครโมโซม โดยมี ผศ.ดร.จำนงค์ นพรัตน์ รับผิดชอบทางด้านอณูพันธุศาสตร์ และ อ.อุไรวรรณ จิโนรส รับผิดชอบทางด้านการตรวจโครโมโซม เมื่อมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ หน่วยฯ จึงได้เริ่มให้บริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยก่อนคลอดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและทารกกลุ่มอาการดาวน์ โดย ผศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล เป็นผู้ทำการเจาะน้ำคร่ำ (amniocentesis) ส่งตรวจโครโมโซมครั้งแรกในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2529 หลังจากนั้นได้ขยายงานเพิ่มเป็นการเจาะดูดเนื้อรก (chorionic villus sampling) ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2533 และตรวจเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ (cordocentesis) วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2534

หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี

          เริ่มมีการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่าง ๆ แบบ radical surgery ตั้งแต่ต้นทศวรรษ เช่น การทำ Wertheim operation ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะต้น และการทำ radical vulvectomy นอกจากนี้มีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยรังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา (รศ.นพ.จงดี สุขถมยา) จัดตั้ง tumor clinic ขึ้น เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และเปิดให้บริการส่องกล้องทางช่องคลอด (colposcopy)

หน่วยมีบุตรยาก

        มีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์  โดยทำ Gamete Intra-fallopian Transfer (GIFT) สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และของภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2534 โดย ผศ.นพ.โสภณ ชีวะธนรักษ์ และคณะ

ด้านการวิจัย

หน่วยวางแผนครอบครัว

หน่วยวางแผนครอบครัว (อ.สุรางค์ พันธุ์ฟุ้ง อ.เฉลิมพร เจริญวิศาล และ อ.สุธรรม ปิ่นเจริญ) ได้เข้าร่วมโครงการ Long term Institution Development for Strengthening Research Capabilities in Human Reproduction (LID-HRP) ภายใต้การสนับสนุนของ WHO ซึ่งริเริ่มก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ นิกร ดุสิตสิน อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประสานการรวมตัวกันของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ของ 3 ภูมิภาคหลัก จับมือกับศูนย์อนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย ที่ประจำอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ ทำโครงการขอรับการสนับสนุนจาก WHO เพื่อสร้างสมรรถนะการทำวิจัยด้านวางแผนครอบครัวและการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก WHO เป็นช่วงระยะเวลารอบละ 4 ปีต่อเนื่องกัน 3 รอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2540

          ในระยะแรก เน้นการพัฒนาสมรรถนะของอาจารย์และบุคลากรทั้ง 6 สถาบัน  (คณะแพทยศาสตร์ภูมิภาค 3 สถาบัน และศูนย์อนามัยแม่และเด็กของแต่ละภูมิภาค 3 ศูนย์) ด้านการทำวิจัยอนามัยเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัว ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรม ซึ่งหมุนเวียนกันจัดในแต่ละภูมิภาคทุก ๆ 4 เดือน  และการส่งอาจารย์ของภาควิชา ไปศึกษาด้านระบาดวิทยาระดับปริญญาโท 1 ท่าน (อ.สุรางค์ พันธุ์ฟุ้ง) ณ ประเทศออสเตรเลีย และหลักสูตรอบรมระยะ 3 เดือน 1 ท่าน (อ.สุธรรม ปิ่นเจริญ) ณ ประเทศฮ่องกง  พร้อมกับการพัฒนาโครงการวิจัยแบบสหสถาบัน (multi-center study)  เพื่อขอรับทุนวิจัยจาก WHO ซึ่งโครงการ Protective effect of depot- medroxyprogesterone acetate on surgically treated uterine leiomyomas: a multicentre case-control study ได้รับการชมเชยอย่างสูงจาก WHO 

ในระยะ 4 ปีสุดท้าย โครงการได้ขยายศักยภาพโดยการเสนอเป็นตัวแทนของ WHO เพื่อเข้าไปพัฒนางานวางแผนครอบครัวและวิจัยด้านการเจริญพันธุ์ให้กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากการจัดให้แพทย์ลาวเข้ามาอบรมดูงานระยะสั้นในประเทศไทยแล้ว ยังจัดอาจารย์และทีมวิจัย เข้าไปจัดการฝึกอบรมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกหลายรอบ

          จากเครือข่ายวิจัยความร่วมมือของ 3 ภูมิภาค เมื่อสิ้นสุดการสนับสนุนจาก WHO แล้ว  เครือข่ายนี้ยังสามารถต่อเชื่อมการวิจัยกับ Johns Hopkins University เรื่อง hormonal contraception and the risk of HIV acquisition  และ ความชุกของเชื้อ HPV ในกลุ่มสตรีที่มีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก และในที่สุดขยายความร่วมมือต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อการวิจัยวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ใน phase ที่ 2 และ 3 ก่อนที่วัคซีนตัวนี้จะได้รับการรับรองการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งโครงการวิจัยมีการติดตามผลข้างเคียงของคนที่ได้รับวัคซีนนี้มาจนถึงปี พ.ศ. 2556

หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี

          หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มีความมั่นใจในปณิธานที่ตั้งไว้ “ Less than 10” คือ ลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทย ให้น้อยกว่า 10 ในประชากรสตรี 100,000 คน โดยมุ่งเน้นในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งการที่จะทำให้บรรลุผลเช่นนั้น ในยุคแรกของการเปิดให้บริการในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 คงจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในช่วงนั้นอาศัยการตรวจคัดกรองโดยใช้ Pap smears เป็นหลัก และยังมีข้อจำกัดในเรื่องความครอบคลุมของการตรวจคัดกรองดังกล่าว

ในช่วงเวลานั้น องค์ความรู้ในระดับ โมเลกุลของ Human Papilloma Virus (HPV) ได้พัฒนามาถึงจุดที่ยืนยันได้ว่า HPV เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก (Molecular evidence) แต่ยังขาดหลักฐานทางระบาดวิทยา อันจะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน เพื่อนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วโลก

International Agency for Research on Cancer (IARC) เป็นหน่วยงานหนึ่งของ World Health Organization (WHO) มีหน้าที่ในการทำงานวิจัยและสร้างเครือข่ายงานวิจัย เพื่อหาสาเหตุของการเกิดมะเร็ง รวบรวมข้อมูลและติดตาม (surveillance) การเกิดมะเร็งทั่วโลก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกและ HPV นั้น Dr. Nubia Munoz ได้สร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อศึกษาระบาดวิทยาของ HPV สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก อันจะนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของวัคซีน ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกในแง่มุมต่าง ๆ  เมื่อคณาจารย์หน่วยมะเร็งฯ ทราบเรื่องนี้จาก ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วย (ผศ.พญ.สายบัว    ชี้เจริญ) จึงได้ติดต่อไปยัง IARC แจ้งความประสงค์อยากมีส่วนร่วมในการทำวิจัยเรื่องนี้   พร้อมส่งข้อมูลรายงานประจำปีของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ที่ระบุถึงจำนวนผู้ป่วย รายละเอียดของระยะต่าง ๆ ของมะเร็ง วิธีการรักษา และการติดตามผลการรักษา นำไปสู่การเดินทางมาประเมินศักยภาพของหน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี  โดย Dr. Munoz หัวหน้าเครือข่ายโครงการวิจัย  และนั่นคือโอกาสที่หน่วยมะเร็งฯ ได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยระดับนานาชาติทั่วโลก โดยเป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับ ฟิลิปปินส์ ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2536 

หลังสิ้นสุดงานวิจัย ผลงานวิจัย Risk factors for cervical cancer in Thailand: a case-control study ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the National Cancer Institute และผลงานของเครือข่ายการศึกษาเรื่องมะเร็งปากมดลูกในระดับนานาชาตินี้ (International Biological Study on Cervical cancer-IBSCC Study group) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย   เป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาวัคซีน HPV เพื่อใช้ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในสตรีทั่วโลกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ   สมดังคำกล่าวของ Dr. Munoz ที่บอกแก่คณาจารย์หน่วยมะเร็งฯ ว่า

“ท่านอย่าหวังในเรื่องการตอบแทนในเรื่องการวิจัยครั้งนี้เป็นเรื่องเงินตรา แต่จงหวังความรู้ ประสบการณ์ที่จะได้จากการทำงานวิจัย อันจะนำไปช่วยสตรีทั่วโลกให้ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก”

ในปี พ.ศ. 2551 Dr. Munoz ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Nobel (Nobel Prize Laureate) สาขาการแพทย์ ในการค้นพบสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก แต่ในปีนั้นผู้ได้รับรางวัลคือ Dr. Harald zur Hausen ผู้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง HPV กับมะเร็งปากมดลูก และทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ค้นพบ HIV ทำให้เกิดโรค AIDS อาจกล่าวได้ว่า zur Hausen พบความเชื่อมโยงระหว่าง HPV กับมะเร็งปากมดลูก และ Dr. Nubia Munoz เป็นผู้พิสูจน์และยืนยันจากหลักฐานทางระบาดวิทยา

ประสบการณ์การทำวิจัยกับเครือข่ายการวิจัยมะเร็งปากมดลูกระดับนานาชาตินี้ มีส่วนทำให้หน่วยมะเร็งฯ ได้รับการสนับสนุนจาก American Cancer Society (ACS) ในโครงการการวิเคราะห์สถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในภาคใต้ตอนล่าง  ซึ่งเป็นหนึ่งใน 80 โครงการวิจัยที่  ACS เลือกให้การสนับสนุน จากจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วโลกที่เสนอมา นอกจากนั้น ACS ยังสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแบบองค์รวมที่เน้นการบริหารจัดการองค์กรในเรื่องการควบคุมมะเร็งอีกด้วย

ทศวรรษที่ 3: ปี พ.ศ. 2535-2544

เป็นยุคของการพัฒนาและการประกันคุณภาพ มีอาจารย์แพทย์ 19 - 21 ท่าน  คณะแพทยศาสตร์มีการจัดระบบค่าตอบแทนและมีกลไกการประเมินผล   มีกลไกพัฒนาคุณภาพงานหลากหลาย   รวมถึงการประเมินคุณภาพงานบริการตามแนวทาง Hospital accreditation (HA)   ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA ในปี พ.ศ. 2544  ภายใต้การนำของ ผศ.นพ.สุธรรม

ปิ่นเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในขณะนั้น (อดีตหัวหน้าภาควิชาฯ)  ภาควิชามีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และตัวชี้วัดความก้าวหน้าของการบริหารภาควิชาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

มีการพัฒนาอาจารย์ใหม่ โดยคณะแพทยศาสตร์สนับสนุนให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในระยะยาว หลายรูปแบบเช่น ระดับปริญญาโท clinical fellowship หรือ research fellowship ภาควิชามีอาจารย์ไปศึกษาต่อในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อ.ชัชปวิตร เกตุพุก (อังกฤษ; พ.ศ. 2538-2539)

อ.จิตเกษม สุวรรณรัฐ (อังกฤษ; พ.ศ. 2539-2540)   อ.ฐิติมา สุนทรสัจ (ออสเตรเลีย; พ.ศ. 2540-2541) และ อ.ศรันญา วัฒนกำธรกุล (อเมริกา; พ.ศ. 2544-2545) ก่อนที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จะเปิดการฝึกอบรมอนุสาขาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีอาจารย์เข้าฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น (3 เดือน) 1 ท่าน ได้แก่ อ.รักชาย บุหงาชาติ (อิสราเอล; พ.ศ.2543)

นอกจากนี้ ภาควิชาส่งอาจารย์เข้าศึกษาระดับปริญญาเอกด้านระบาดวิทยา (อ.ทิพวรรณ เลียบสื่อตระกูล; พ.ศ. 2542 ซึ่งต่อมาย้ายไปสังกัดหน่วยระบาดวิทยา) และประกาศนียบัตรด้าน clinical epidemiology หลักสูตร 10 เดือน ของหน่วยระบาดวิทยา (รศ.พญ.อุ่นใจ กอออนันตกุล; พ.ศ.2542) เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการทำวิจัย

ด้านการเรียนการสอน

มีการเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 คือ อนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช จำนวนไม่เกิน 2 คนต่อปีการศึกษา โดยเริ่มรับแพทย์ประจำบ้านในปี พ.ศ. 2543 (ภายหลังเพิ่มศักยภาพเป็น 3 คนต่อปีการศึกษา) แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาคนแรกคือ นายแพทย์รักชาย บุหงาชาติ

 

ด้านการบริการ

มีการพัฒนาการรักษาพยาบาลเชิงลึกและการผ่าตัดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น อาทิเช่น ในปี พ.ศ. 2535 เริ่มมีการพัฒนาการผ่าตัดผ่านกล้อง (endoscopic surgery) โดย ผศ.นพ.หเทิญ ถิ่นธารา และคณะ รวมทั้งเขียนรายงานผู้ป่วย ซึ่งได้รับการผ่าตัดโดยวิธี laparoscopic-assisted vaginal hysterectomy (LAVH) รายแรกของรพ.สงขลานครินทร์ ตีพิมพ์ในสงขลานครินทร์เวชสาร และรายงานการตัดมดลูกด้วยกล้องส่องช่องท้องแบบไม่ใช้ก๊าซ: รายงานผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ตีพิมพ์ในสงขลานครินทร์เวชสาร ในปี พ.ศ. 2539 การผ่าตัดผ่านกล้องได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ มีการพัฒนางานด้านการรักษาทารกในครรภ์ (fetal therapy) โดยเริ่มทำการให้เลือดทารกในครรภ์ผ่านทางช่องท้อง (intraperitoneal blood transfusion) ในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็น Rh isoimmunization  โดย รศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล และคณะ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นได้ทำ vesico-amniotic shunt โดยใช้ double pigtail, Harrison fetal bladder stent ในทารกที่เป็น bladder outlet obstruction โดย ผศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ  และ ผศ.พญ.จิตเกษม สุวรรณรัฐ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544

หน่วยมีบุตรยาก มีการพัฒนาการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization and embryo transfer; IVF) ประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2540

ปี พ.ศ. 2540 ภาควิชาเปิดคลินิกพิเศษเพิ่มเติมคือ คลินิกวัยทอง โดยในยุคนั้นมีอาจารย์จากหน่วยต่าง ๆ ที่สนใจเรื่องนี้มาให้บริการ ก่อนที่จะมีอาจารย์อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์มารับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมในภายหลัง

ด้านบริการวิชาการ

ปี พ.ศ. 2534-2538 หน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดย รศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง  จัดหลักสูตรนานาชาติระยะสั้น STD/AIDS Diploma Course ร่วมกับ University of Liverpool ซึ่งมีชาวต่างชาติให้ความสนใจ มาเข้าร่วมฝึกอบรมเป็นจำนวนมากต่อเนื่องทุกปี

หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง คลื่นเสียงความถี่สูงเบื้องต้นทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยจัดการประชุมเป็นประจำทุกปี และพัฒนาเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Advance in Fetal Medicine ปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2544

 

ด้านการวิจัยและนวัตกรรม

ปี พ.ศ. 2540 รศ.นพ.หเทิญ ถิ่นธารา ได้ประดิษฐ์เครื่องมือยกผนังหน้าท้องเพื่อใช้ทำผ่าตัดในช่องท้องโดยใช้กล้องส่องช่วยแบบไม่ใช้ก๊าซ (Simplified abdominal wall-lifting device for gasless laparoscopy) และในเวลาต่อมา อาจารย์ได้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์อีกหลายชิ้น อาทิเช่น เครื่องโยกมดลูก ซึ่งได้จดสิทธิบัตรทั้งระดับชาติและนานาชาติ หุ่นเจาะถุงน้ำ เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2543 หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ ผศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ และคณะ ได้เริ่มทำวิจัยแบบสหสถาบัน  ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง การวัดความหนาของน้ำที่สะสมใต้ผิวหนังบริเวณคอทารกในครรภ์ เพื่อการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ทศวรรษที่ 4: ปี พ.ศ. 2545-2554

          เป็นยุคที่มีการยกระดับภาควิชาให้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับโรงเรียนแพทย์ชั้นแนวหน้าของประเทศในส่วนกลาง และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจและตัวชี้วัดความก้าวหน้าของการบริหารจัดการ  อาจารย์ในภาควิชามีประมาณ 22-28 คน เป็นยุคที่คณาจารย์มีความตื่นตัวในเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาการและการทำงานวิจัย  โดยอาจารย์มีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในวารสารระดับนานาชาติ  มีอาจารย์ได้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นรายแรกของภาควิชา คือ ศ.นพ.หเทิญ ถิ่นธารา ในปี พ.ศ. 2547 ในเวลาต่อมามี ศาสตราจารย์เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่านในทศวรรษนี้ได้แก่ ศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล  และ ศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง

อาจารย์ใหม่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อ.กรัณฑรัตน์ ปิยนันท์จรัสศรี (ออสเตรเลีย; พ.ศ. 2546-2547) อ.สาธนา โตเจริญวานิช (อังกฤษ; พ.ศ. 2546-2547) อ.ชัยณรงค์ โชคสุชาติ (อเมริกา; พ.ศ. 2548-2550) อ.ธนพันธ์ ชูบุญ (สิงคโปร์; พ.ศ. 2550) อ.เกรียงศักดิ์ ธนวรวิบูล (อังกฤษ; พ.ศ. 2550-2551) อ.ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์ (ญี่ปุ่น; พ.ศ. 2550-2551)  อ.จิตติ หาญประเสริฐพงษ์ (ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส; พ.ศ. 2551-2552) และ อ.ศิวัชญา คะนึงกิจก้อง (ไต้หวัน; พ.ศ. 2554-2555)

ปี พ.ศ. 2545 ภาควิชา ส่ง ผศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ เข้าอบรมประกาศนียบัตรด้าน clinical epidemiology หลักสูตร 10 เดือน ของหน่วยระบาดวิทยา

อาจารย์ใหม่ได้รับการอบรมแพทยศาสตรศึกษา การแพทย์เชิงประจักษ์และการสอนจริยธรรมอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดอาจารย์พี่เลี้ยงและแผนการพัฒนาตนเองที่ชัดเจน

ด้านการเรียนการสอน

ภาควิชามีการเปิดการฝึกอบรมได้ครบทั้ง 3 อนุสาขา ในปี พ.ศ. 2548 รายละเอียดของอนุสาขาที่เปิดเพิ่มในทศวรรษนี้ มีดังนี้

ปี พ.ศ. 2546 เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จำนวนไม่เกิน 2 คนต่อปีการศึกษา โดยเริ่มรับแพทย์ประจำบ้านในปี พ.ศ. 2546

ปี พ.ศ. 2548 เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จำนวน 1 คนต่อปีการศึกษา (เพิ่มศักยภาพเป็น 2 คนใน

ปี พ.ศ. 2557)

ปี พ.ศ. 2552 ภาควิชาได้เปิดรับแพทย์จากประเทศภูฏาน 4 คน เข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน นับเป็นความก้าวหน้าที่มีความสำคัญเพื่อยกระดับสู่สากล

นอกจากนี้ภาควิชามีการปรับหน่วยการทำงานเป็นอนุสาขา ตามโครงสร้างของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งขณะนั้นมี 3 อนุสาขา ได้แก่ มะเร็งวิทยานรีเวช เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาได้รวมหน่วยวางแผนครอบครัว หน่วยมีบุตรยาก และหน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เข้าด้วยกัน เป็นหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ด้านการบริการ

ปี พ.ศ. 2545 จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการครบวงจรแก่ผู้มีบุตรยากที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับศูนย์บริการอื่น ๆ ของประเทศ โดยมีราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล และช่วยพัฒนาวิชาการ รวมทั้งได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากแพทยสภา

ปี พ.ศ. 2547 หน่วยมีบุตรยาก เริ่มให้บริการ intra-cytoplasmic sperm injection (ICSI)

ปี พ.ศ. 2547 หน่วยบริบาลทารกในครรภ์ เปิดให้บริการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแบบ 3 และ 4 มิติ

ปี พ.ศ. 2551 ภาควิชาจัดตั้งหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะขึ้น  มีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดโดยวิธี mid-urethral sling และการผ่าตัดรักษาภาวะช่องคลอดโผล่แลบด้วย total vaginal mesh augmentation เป็นแห่งแรกในภาคใต้ พัฒนาการวัดปัสสาวะคงค้างโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแทนการสวนปัสสาวะเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ  ในช่วงแรกมีอาจารย์แพทย์ปฏิบัติงาน 1 ท่านคือ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ  และต่อมาในปี

พ.ศ. 2558 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะ เป็น "หน่วยเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม" ตามชื่ออนุสาขาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาฯ และผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ได้รับอนุมัติบัตรอนุสาขาฯ จากแพทยสภา

ปี พ.ศ. 2552 จัดตั้งคลินิกพิเศษเพิ่มเติม คือ คลินิกนรีเวชต่อมไร้ท่อ

ปี พ.ศ. 2554 ด้านการรักษาทารกในครรภ์ ได้มีการให้เลือดทารกในครรภ์ผ่านทางสายสะดือทารกเป็นครั้งแรกโดย ผศ.พญ.สาวิตรี พรานพนัส และคณะ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปี พ.ศ. 2554 ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ร่วมกับ พญ.ศิวัชญา คะนึงกิจก้อง และ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ ได้ทำวิจัยเรื่อง การดูดโพรงมดลูกด้วยกระบอกดูดสุญญากาศในการรักษาภาวะแท้งบุตร พบว่าสามารถช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการและค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก อีกทั้งยังสามารถให้บริการที่คลินิกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉิน โดยไม่ต้องดมยาสลบหรือระงับความเจ็บปวดในห้องผ่าตัด ภาควิชาจึงได้ปรับเปลี่ยนการบริการขูดมดลูกจากเดิมที่เป็นการขูดด้วยอุปกรณ์เหล็ก (sharp curettage) ซึ่งต้องทำในห้องผ่าตัด มาเป็นการดูดด้วยอุปกรณ์หลอดดูดสุญญากาศ (manual vacuum aspirator) ซึ่งสามารถให้บริการเป็นแบบผู้ป่วยนอก ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนในการรักษาพยาบาลเป็นแห่งแรกในประเทศ   ในช่วงเวลานั้นได้มีคณะศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงทีมงานจากแพทยสภา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานการทำสูติศาสตร์หัตถการ ระดับแพทยศาสตรบัณฑิต เรื่องการดูดโพรงมดลูกด้วยหลอดดูดสุญญากาศ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปี พ.ศ. 2554 ภาควิชาได้เป็นสถานที่ดูงานด้านการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในหลักสูตร Fellowship in Family Planning Program จากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 2 คน

          ในปลายทศวรรษ อาจารย์รุ่นบุกเบิกเริ่มทยอยเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ท่านแรกคือ ผศ.นพ.วิศิษฐ์ ประสาธน์วนกิจ

 

การพัฒนาเครือข่ายด้านการบริการกับกระทรวงสาธารณสุข

          ปี พ.ศ. 2552 รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ หัวหน้าภาควิชา ได้สร้างเครือข่ายการบริการกับกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อลดการตายของมารดาในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีอัตราตายสูงที่สุดในประเทศไทย โดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รับส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงสูงโดยตรง จากโรงพยาบาลอำเภอในเขตจังหวัดสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย โดยไม่ต้องผ่านระบบส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลหาดใหญ่และโรงพยาบาลสงขลา  จนถึงปี พ.ศ. 2556

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รับการส่งต่อมารดาที่เป็นโรคหัวใจของภาคใต้ และพัฒนาระบบเชิงรุกภายในโดยจัดให้มีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญของหน่วยวางแผนครอบครัว ให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิด ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นโรคหัวใจที่คลินิกผู้ป่วยนอกของอายุรกรรม และมีการจัดตั้งทีม patient care team (PCT) กับอายุรแพทย์โรคหัวใจ

ด้านการวิจัยและนวัตกรรม

          โครงการ LID-HRP ของหน่วยวางแผนครอบครัว ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยมี รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ เป็นหัวหน้าทีม

          ปี พ.ศ. 2551 ศ.นพ.หเทิญ ถิ่นธารา จดสิทธิบัตรระดับนานาชาติ Tintara Uterine Manipulator, Karl Storz, Tuttlingen, Germany

 

ทศวรรษที่ 5: ปี พ.ศ. 2555-2564

เป็นยุคของการพัฒนาเชิงลึกของแต่ละอนุสาขา และการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานสากล ในขณะเดียวกันยุคนี้เป็นยุคที่อาจารย์อาวุโสทยอยเกษียณอายุราชการอย่างต่อเนื่อง จำนวนอาจารย์ในช่วงนี้ ประมาณ 25-30 คน จำนวนอาจารย์ที่รับเข้าใหม่ใกล้เคียงกับอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ

คณะฯ สนับสนุนการศึกษาต่อต่างประเทศระยะยาวของอาจารย์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อ.สาวิตรี พรานพนัส (เบลเยี่ยม; พ.ศ.2557-2559) อ.อธิษฐาน รัตนบุรี (ญี่ปุ่นและเกาหลี; พ.ศ. 2562) อ.ชุษณา เพชรพิเชฐเชียร (แคนาดา; พ.ศ. 2562-2563) และ ผศ.พญ.มนภัทร สุกใส (อเมริกา; พ.ศ. 2564-2566)

 

ด้านการเรียนการสอน 

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดหลักสูตรเพิ่มอีก 1 อนุสาขาคือ อนุสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ได้รับการรับรองจากแพทยสภาในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งภาควิชาฯ ได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขานี้ในปี พ.ศ. 2561 รับรองโดยแพทยสภา ซึ่งอนุมัติให้เปิดรับผู้ฝึกอบรมได้ 1 ตำแหน่งต่อปีการศึกษา และเริ่มรับแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาฯ ในปี พ.ศ. 2562 แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาคนแรกคือ พญ.ศศิมา กรศิลป

          ปี พ.ศ. 2562 เปิดหลักสูตรเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช เป็นหลักสูตร 1 ปี รับรองโดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยรับผู้ฝึกอบรมได้ 1 คนต่อปีการศึกษา เริ่มรับผู้เข้าอบรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562

มีการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานสากล World Federation for Medical Education (WFME) โดยทุกหลักสูตรของภาควิชาฯ ได้รับการรับรองจากแพทยสภา (หลักสูตรวุฒิบัตรสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ในปี พ.ศ. 2562 และหลักสูตรของทั้ง 4 อนุสาขาฯ ในปี พ.ศ. 2564)

 

ด้านการบริการ

มีการพัฒนาการรักษาพยาบาลโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิเช่น เริ่มทำ vaginal natural orifice transluminal endoscopic (NOTE) hysterectomy รายแรก เมื่อ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดย อ.นพ.ยุทธศักดิ์ ศุภสินธุ์ และคณะ การผ่าตัดแบบ minimally invasive surgery ในผู้ป่วยมะเร็ง และเริ่มทำ robotic surgery เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ในผู้ป่วยเนื้องอกมดลูก (myoma uteri) และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดย อ.นพ.ยุทธศักดิ์ ศุภสินธุ์ อ.นพ.อธิษฐาน รัตนบุรี และคณะ นอกจากนี้มีการพัฒนาการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และรักษาทารกในครรภ์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง

ปี พ.ศ. 2563 เปิดบริการศูนย์ควบคุมการขับถ่ายและบำบัดกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Continence and pelvic floor rehabilitation center) ซึ่งเป็นการบูรณาการตรวจ รักษาและบำบัดผู้ป่วย  โดยมีสหสาขาร่วมมือกันคือ อนุสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม อนุสาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และอนุสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ปี พ.ศ. 2564 จัดตั้ง Prince of Songkla University-Placenta Accreta Spectrum Center (PSU-PAS center) เพื่อดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกโดยทีมสหสาขา

ด้านบริการวิชาการ

ปี พ.ศ. 2560 หน่วยมะเร็งนรีเวช จัด cadaveric workshop เป็นครั้งแรก เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านอนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช ได้ฝึกทักษะการผ่าตัดที่ซับซ้อน จากนั้นภาควิชาฯ มีการจัด  cadaveric workshop อย่างต่อเนื่องทุกปี

ในทศวรรษนี้ มีอาจารย์ขอกำหนดตำแหน่งวิชาการเป็นศาสตราจารย์อีก 3 ท่าน  ได้แก่ ศ.นพ.โสภณ ชีวะธนรักษ์  ศ.นพ.จิตติ หาญประเสริฐพงษ์  และ ศ.พญ.จิตเกษม สุวรรณรัฐ  นอกจากนี้ ภาควิชา มี ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง เป็นท่านแรก คือ ศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นท่านแรกของภาควิชา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

 

ในปลายทศวรรษนี้ ปี พ.ศ. 2564 มีการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจของสาขาวิชาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับคณะแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2564-2567) ดังนี้

วิสัยทัศน์

สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาเพื่อเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเลิศระดับสากล

พันธกิจ

  1. ผลิตและพัฒนาแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม

  2. ให้บริการด้านสุขภาพและอนามัยของสตรีที่เป็นเลิศในระดับสูงกว่าตติยภูมิ

  3. สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม

  4. ให้บริการวิชาการ และเชื่อมโยงเครือข่ายทางสาธารณสุข เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ชุมชนและสังคม

ทศวรรษที่ 6: ปี พ.ศ. 2565 -  ปัจจุบัน

ยุคนี้ทุกอนุสาขามีการพัฒนาเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยกระดับการฝึกอบรมหลังปริญญาให้สู่ระดับนานาชาติ สนับสนุนให้แพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน นำเสนองานวิขาการในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ มีการรับอาจารย์ใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อขยายและเพิ่มศักยภาพด้านบริการ อาจารย์ขอกำหนดตำแหน่งวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด มีการขอรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (Disease Specific Certification, DSC) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)

ด้านการเรียนการสอน

          ปี พ.ศ.2565 แพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน 3 คน นำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า ใน งานประชุม 30th World Congress on Controversies in Obstetrics, Gynecology and Infertility (COGI) ณ กรุง Amsterdam ประเทศ Netherland

          ปี พ.ศ.2566 แพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้าน 4 คน นำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า ใน งานประชุม 31st World Congress on Controversies in Obstetrics, Gynecology and Infertility (COGI) ณ กรุง Vienna ประเทศ Austria

ด้านการบริการ

          ปี พ.ศ.2565 ได้รับการรับรอง มาตรฐานการดูแลเฉพาะโรค (DSC) เรื่อง Placenta Accreta Spectrum Disorders

          ปี พ.ศ.2566 ได้รับการรับรอง มาตรฐานการดูแลเฉพาะโรค (DSC) เรื่อง มะเร็งปากมดลูก

ด้านการบริการวิชาการ

          ปี พ.ศ.2566 หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Reproductive Medicine & Gynaecologic Laparoscopy Conference 2023: The Universe in Endometriosis: step across the threshold โดยเชิญวิทยากรต่างชาติ ร่วมเป็นวิทยากร

          ปี พ.ศ.2566 หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Advanced Obstetric Ultrasound

ด้านวิจัยและนวัตกรรม

ปี พ.ศ.2565 ผศ.นพ.ชัยณรงค์ โชคสุชาติ และคณะ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: ผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ระดับดี” หุ่นอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอัจฉริยะเพื่อการทำหัตถการทางนรีเวช จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ปี พ.ศ.2565 รศ.พญ.หนึ่งฤทัย แซ่เอียบ และคณะ ยื่นจดอนุสิทธิบัตร หุ่นฝึกหัตถการทางการแพทย์ สำหรับฝึกล้วงรก (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 2303000403)

รางวัลที่อาจารย์ได้รับจากอดีตถึงปัจจุบัน

รางวัลระดับนานาชาติ

          จากอดีตถึงปัจจุบัน คณาจารย์ของภาควิชาได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมหลายชิ้น สรุปรางวัลที่อาจารย์ได้รับในระดับนานาชาติดังนี้

 2537  อ.วีระพล  จันทร์ดียิ่ง  Young Gynaecologist Award จาก AOFOG

 2538 อ.เรืองศักดิ์  ลีธนาภรณ์  Young Gynaecologist Award จาก AOFOG

 2539 อ.หเทิญ  ถิ่นธารา FIGO International Fellowship Program

 2543 อ.ฐิติมา  สุนทรสัจ Young Gynaecologist Award จาก AOFOG

 2548 อ.จิตเกษม  สุวรรณรัฐ  Shan S Ratnam Young Gynaecologist Award (SSR-YGA) จาก AOFOG

 2549 อ.กรัณฑ์รัตน์  สุนทรพันธ์ FIGO International Fellowship Program

 2549 อ.สายบัว  ชี้เจริญ International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO) Award in Recognition of Women   Obstetricians/Gynecologists

 2551 อ.วีระพล  จันทร์ดียิ่ง Diploma of Fellowship of the Royal College of Physicians of London (FRCP)  และ Silver Award   

จาก  International Union against Sexually Transmitted Infections (IUSTI), Royal College of Physicians of London

 2552 อ.จิตติ  หาญประเสริฐพงษ์ Shan S Ratnam Young Gynaecologist Award (SSR-YGA) จาก AOFOG และ Young Scientist   Award of Asian and Oceanic Congress of Obstetrics & Gynecology จาก AOFOG

 2556  อ.ธารางรัตน์  หาญประเสริฐพงษ์ Shan S Ratnam Young Gynaecologist Award (SSR-YGA) จาก AOFOG

 2557 อ.นิลภา  พฤกษานุศักดิ์ Best Clinical Research Article from a Low/Middle-Income Countryจาก FIGO 

 2560 อ.นิลภา  พฤกษานุศักดิ์ Shan S Ratnam Young Gynaecologist Award (SSR-YGA) จาก AOFOG

 2561  อ.อุ่นใจ  กออนันตกุล International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO) Award in Recognition of Women   Obstetricians/Gynecologists

 2565 อ.ชุษณา  เพชรพิเชฐเชียร Shan S Ratnam Young Gynaecologist Award (SSR-YGA) จาก AOFOG

 2566 อ.มนภัทร สุกใส Mizuno-Ratnam Young Gynaecologist Award จาก AOFOG

นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ โดยอาจารย์ของภาควิชาฯ มีดังนี้

ศ.นพ.หเทิญ ถิ่นธารา

  • พ.ศ. 2540  เครื่องมือยกผนังหน้าท้องเพื่อใช้ทำผ่าตัดในช่องท้องโดยใช้กล้องส่องช่วยแบบไม่ใช้ก๊าซ (Simplified abdominal wall-lifting device for gasless laparoscopy)

  • พ.ศ. 2542  เครื่องโยกมดลูกสงขลา สิทธิบัตรไทย เลขที่ 13444 Songkla Uterine Manipulator

  • พ.ศ. 2543  เครื่องโยกมดลูกสงขลา สิทธิบัตรไทย เลขที่ 13445 Songkla Uterine Manipulator

  • พ.ศ. 2551  Tintara Uterine Manipulator, Karl Storz, Tuttlingen, Germany

  • พ.ศ. 2555  ชุดฝึกเจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy Training Model)

  • พ.ศ. 2556  เครื่องเฝ้าระวังปริมาณสารน้ำสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องส่องโพรงมดลูก (Fluid monitoring system for hysteroscopic surgery)

ผศ.นพ.ชัยณรงค์ โชคสุชาติ

  • พ.ศ. 2565 หุ่นอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอัจฉริยะเพื่อการทำหัตถการทางนรีเวช (ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: ผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ระดับดี”)

รศ.พญ.หนึ่งฤทัย แซ่เอียบ

  • พ.ศ. 2565 ยื่นจดอนุสิทธิบัตร หุ่นฝึกหัตถการทางการแพทย์ สำหรับฝึกล้วงรก (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 2303000403)

การทำงานร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

มีอาจารย์ของภาควิชาฯ หลายท่าน ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของราชวิทยาลัยฯ โดยแต่ละท่านได้รับการเลือกตั้งหลายสมัย ดังนี้

  1. ศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง (วาระ พ.ศ. 2533-2549 ได้รับเลือกทุกสมัยต่อเนื่อง, 2553-2555)

  2. รศ.พญ.สายบัว ชี้เจริญ (วาระ พ.ศ. 2545-2546, 2547-2549, 2550-2552)

  3. ศ.พญ.อุ่นใจ กออนันตกุล (วาระ พ.ศ. 2556-2558, 2559-2561)

  4. รศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ (วาระ 2553-2555, 2562-2564, 2565-2567)

 

bottom of page